ประวัติความเป็นมาของกระทรวงกลาโหม
- กระทรวงกลาโหมกำหนดให้มีสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นครั้งแรกในพระราชบัญญัติจัดระเบียบ ป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ.๒๔๗๖ พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๑ ได้บัญญัติ บทบาทและหน้าที่ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ไว้ดังนี้ “มาตรา ๑๓ สำนักงานปลัดกระทรวงมีหน้าที่เกี่ยวกับงานนโยบายและยุทธศาสตร์งานราชการประจำทั่วไป ของกระทรวง และราชการส่วนหนึ่งส่วนใดของกระทรวงซึ่งมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการอื่นใด มีปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ” ทำให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเปรียบเสมือน เป็นหน่วยงานที่เป็นมันสมองของกระทรวงกลาโหมอย่างแท้จริง โดยทำหน้าที่กำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และ แผนการดำเนินการ ที่เชื่อมโยงจากรัฐบาลไปยังหน่วยปฏิบัติรวมถึงการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติราชการ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เกิดประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และเป็นไป ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของประเทศ ประชาชน และสังคมไทย
วิสัยทัศน์ / พันธกิจ / ค่านิยมองค์กร ปลัดกระทรวงกลาโหม
วิสัยทัศน์
- เป็นองค์กรนำในงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนากองทัพไปสู่การพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงกับต่างประเทศ
พันธะกิจ
๑. พิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
๒. เสนอแนะและบูรณาการนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหม
๓. ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม
๔. พัฒนางานเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และกิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง
๕. พัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร เพื่อการพึ่งพาตนเอง
๖. เสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับต่างประเทศ ด้วยการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
๗. สนับสนุนการรักษาความมั่นคงของรัฐ การพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญของชาติ
๘. ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามประเมินผลที่เป็นรูปธรรมไปสู่การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
๙. ดำเนินงานการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเพื่อความมั่นคงค่านิยมองค์การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัว เพื่อความผาสุกของประชาชน และความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
สถานที่ตั้งของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมตั้งอยู่ที่ใด
๑.สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (กห.) ศาลาว่าการกลาโหม ถ.สนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
๒.สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน) เลขที่ ๑๒๕ ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ๑๑๑๒๐
ช่องทางรับคำปรึกษาเกี่ยวกับเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ
- จดหมาย กองเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ กรมการเงินกลาโหม อาคารบริการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน)
๑๒๕ หมู่ ๓ ถนนศรีสมาน ตำบล บ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัด นนทบุรี ๑๑๑๒๐
- โทรศัพท์ กบน.กง.กห. ในศาลาว่าการกลาโหม โทร ๐๒-๒๒๑-๖๘๑๑
กบน.กง.กห. อาคารบริการ สป.(ศรีสมาน) โทร ๐๒-๕๐๑-๖๘๖๕
แผนกเบี้ยหวัดฯ โทร ๐๒-๕๖๐-๕๑๓๗
แผนกฎีกาฯ โทร ๐๒-๕๖๐-๕๑๓๖
แผนกเงินสวัสดิการฯ โทร ๐๒-๕๖๐-๕๑๘๔
- คอมพิวเตอร์ เว็บไซด์ https://dfd.mod.go.th
หน่วยงานใดในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร
- กรมการสรรพกำลังกลาโหม เป็นหน่วยขึ้นตรงของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ เกี่ยวกับการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร การกำลังสำรอง และการสัสดีโดยในส่วนของงานการสัสดี มีกองการสัสดี กรมการสรรพกำลังกลาโหม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบสายงานสัสดีตามพระราชบัญญัติ รับราชการทหาร พ.ศ.๒๔๙๗
การลงบัญชีทหารกองเกิน (การขึ้นทะเบียนทหาร) มีหลักเกณฑ์การปฎิบัติอย่างไร
- ในการลงบัญชีทหารกองเกิน ให้ชายที่มีสัญชาติไทย เมื่ออายุ๑๗ ปี ต้องไปลงบัญชีทหาร กองเกินตามทะเบียนบ้านของบิดา(ผู้ขอลงบัญชีทหารกองเกิน มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่เดียวกับบิดา แต่ถ้าผู้ขอลงบัญชี ทหารกองเกินมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านคนละแห่ง กับทะเบียนบ้านของบิดาจะต้องไปขอลงบัญชีทหารกองเกินตามที่บิดามี
ทะเบียนบ้าน) ถ้าบิดาถึงแก่กรรม ใหล้งบัญชีทหารกองเกิน ตามทะเบียนบ้านของมารดา ถ้าบิดามารดาถึงแก่กรรม ให้ลงบัญชีทหารกองเกินตาม ทะเบียนบ้านของผู้ปกครอง (ในกรณีของมารดาและผู้ปกครองก็ให้ปฏิบัติในทำนองเดียวกันกับบิดา)ผู้ที่ไม่สามารถไปลงบัญ ชีทหารกองเกินด้วยตนเองได้เช่น กรณีที่บุคคลที่อยู่ใน
ต่างประเทศ ต้องให้ผู้ที่บรรลุนิติภาวะ และเชื่อถือได้ไปแจ้งแทนและเมื่อลงบัญชีทหารกองเกินเสร็จแล้วจะได้รับใบสำคัญ (แบบ สด.๙) ไว้เป็นหลักฐาน การลงบัญชีทหารกองเกินให้ไปลงบัญชีทหารกองเกินได้ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงสิ้นเดือน ธันวาคม ของปี ที่อายุ ๑๗ ปี
เมื่อลงบัญชีทหารกองเกิน แล้ว จะได้รับอะไรเป็นหลักฐาน
- เมื่อนายอำเภอท้องที่ได้ตรวจสอบหลักฐานเอกสารเห็นว่าถูกต้องแล้ว จะรับลงบัญชีทหารกองเกินไว้ และออกใบสำคัญ (แบบ สด.๙) หรือใบรับ (แบบ สด.๑๐)ให้เป็นหลักฐาน
ใบสำคัญ (แบบ สด.๙) หากชำรุดหรือสูญหาย จะขอรับใหม่ได้หรือไม่
- รับใหม่ได้ โดยให้ผู้ถือแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่เพื่อขอรับใบสำคัญฯ ใหม่ โดยเสียค่าธรรมเนียม ฉบับละ ๑ บาท แต่ถ้าการชำรุดหรือสูญหายนั้นเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ ต้องไปลงบัญชีทหารกองเกินหรือไม่
- พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนที่สมณศักดิ์ ยกเว้นไม่ต้องลงบัญชีทหารกองเกิน